18.5.17

เครื่องแต่งกายสามัญประจำบ้าน

เป็นลูกของ "ช่างแม่ สอนตัดเสื้อ" ก็จริง แต่เพราะมีแม่ และมีช่างของแม่คอยตัดเย็บเสื้อผ้าให้ตลอด จึงไม่สนใจที่จะหัดตัดเย็บเสื้อผ้าเท่าที่ควร โตมาได้ลองเรียนรู้การสร้างแพทเทิร์นบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะยึดเป็นอาชีพได้เพราะรู้ว่ามันไม่ง่าย สมัยวัยรุ่นก็ใจร้อน การเย็บเสื้อให้สวยนั้นยากเย็นเหลือเกิน จนเมื่อไม่กี่ปีหลังมานี้เอง ที่เริ่มรู้สึกว่าพอทำได้ ใจเย็นขึ้น มือนิ่งขึ้น เย็บจักรได้ตรงขึ้น

ช่วงสามสี่ปีก่อน ฉันตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะเลิกซื้อเสื้อผ้า ถ้าจำเป็นจริงๆก็จะตัดใส่เองเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ตัดเสื้อใส่เองมากมายนัก เพราะของเดิมๆก็ยังพอใช้ แค่ตัดเย็บชิ้นง่ายๆหรือที่จำเป็นต้องใช้จริงๆไว้ใส่บ้าง

ฉันโตมากับร้านตัดเสื้อ ตามแม่ไปซื้อผ้า เลือกกระดุม ดูแต่หนังสือแฟชั่น และวาดรูปแฟชั่นไว้เป็นเล่มๆมาตั้งแต่เด็ก จึงสนใจเรื่องเสื้อผ้าสวยๆงามๆไปโดยปริยาย แต่เมื่อถึงจุดที่เลิกสนใจแฟชั่น เลิกเดินดูและซื้อเสื้อผ้า โดยเฉพาะเมื่อลาออกมาทำงานอยู่กับบ้าน นานๆจะมีนัดคุยงานข้างนอก ฉันก็ยิ่งพบความไม่จำเป็นของการมีเสื้อผ้าใหม่ รู้สึกตัวอีกที พบว่าเราแทบจะไม่มีเสื้อผ้าดีๆใส่ไปข้างนอกเลย เสื้อเก่าใส่สบาย เราเองรับได้ แต่ก็เกรงใจคนรอบข้างเหมือนกัน 

ความคิดที่จะตัดเย็บเสื้อใส่เองจึงกลับมาอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เสื้อสวยๆ ที่ฉันอาจจะเบื่อมันในที่สุด 
ฉันอยากทำเสื้อที่ฉันจะไม่มีวันเบื่อ ต้องใส่สบาย และดูดีเสมอ ใส่อยู่บ้านก็ได้ ใส่ไปไหนๆก็ได้ 
โดยจำเป็นต้องใช้ผ้าที่ระบายอากาศดี ไม่ร้อน เพราะฉันทำงานที่บ้าน ไม่มีแอร์ ฉันเลือกผ้าใยกัญชง เพราะเคยรู้มาว่า เป็นเส้นใยที่ใส่สบายตัว คุณสมบัติเหมือนลินิน แถมยังปลูกได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงมากเท่ากับต้นฝ้าย ที่สำคัญ ฉันก็อยากได้ผ้าที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ ไม่ย้อมสี หรือย้อมด้วยสีธรรมชาติ แล้วฉันก็ได้ผ้าใยกัญชงมาจำนวนหนึ่ง ผลิตในประเทศไทย มีความหยาบ ดูดิบ มีน้ำหนักแบบที่ฉันชอบ ซื้อมาเก็บไว้ รอวันลงมือ

จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พี่สาวจัดงานตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์ม ฉันจึงอยากทำสินค้าไปร่วมสนุกด้วย โดยคิดถึงว่า อยากให้ของที่จะขาย เกี่ยวข้องกับเจ้าของตลาดด้วย แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า พี่หนู เจ้าของตลาดฯ เป็นลูกช่างแม่สอนตัดเสื้อที่ไม่ชอบทำแพทเทิร์นเอาเสียเลย แต่ก็ตัดเสื้อผ้าใส่เองได้หลายตัว ฉันจึงตั้งใจว่า น่าจะทำเสื้อแบบไม่ต้องอาศัยแพทเทิร์น ไปขายที่งานดีกว่า

เสื้อแบบไม่มีแพทเทิร์นนี้เอง ทำให้ฉันนึกไปถึงเสื้อผ้าของคนโบร่ำโบราณ ชนพื้นเมืองต่างๆ ที่เขาไม่ได้สร้างแพทเทิร์นแบบสมัยใหม่ แต่ใช้การพับ กะ ตัด โดยมีความโดดเด่นตรงที่ เสื้อผ้าแบบนั้น มักจะไม่มีเศษเหลือทิ้งเลย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผ้าที่เขาปลูกเส้นใยเอง ทอเอง ผ้าทุกตารางนิ้วจึงมีค่าเกินกว่าจะตัดทิ้ง เสื้อผ้าชนเผ่าส่วนมากจึงมักประกอบขึ้นจากผ้าที่ตัดเป็นเส้นตรง เป็นสี่เหลี่ยมหรือเป็นสามเหลี่ยม แต่ก็มีเทคนิคที่ทำให้เสื้อผ้านั้นใส่ได้พอดีตัว 

เทคนิคที่ฉันสนใจและเลือกมาใช้ทำเสื้อคราวนี้ เรียกว่า การต่อเป้า หรือ Gusset ซึ่งใช้เศษผ้าชิ้นเล็ก มาต่อเชื่อมจุดที่เป็นมุมฉาก เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเมื่อสวมใส่ ไม่ตึง คราวนี้ฉันลองใช้การต่อเป้ากับส่วนที่เป็นรักแร้ ต่อแขนเข้ากับตัวเสื้อที่ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แผ่นที่นำมาต่อเป้า ต้องวางเป็นผ้าเฉลียง เป็นผ้าแผ่นเล็กๆที่เหลือจากผ้าที่ตัดส่วนโค้งของคอเสื้อออก การตัดเสื้อตัวนี้จึงแทบไม่มีเศษเหลือทิ้งเลย แถมการต่อเป้ายังช่วยให้ได้เสื้อที่พอดีกับตัว สวยแต่ใส่สบาย

แต่การต่อเป้าไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันทดลองเอง และพยายามเย็บอย่างตั้งใจที่สุด โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าจะต้องทำไปขาย ก็อยากจะเย็บให้เรียบร้อยที่สุด แต่ก็ยังแอบท้าทายตัวเอง โดยไม่ใช้เตารีดเลยระหว่างการเย็บ จริงๆเตารีดช่วยเรื่องการเย็บให้เนี้ยบได้มาก แต่ฉันก็คิดว่า ชาวชนเผ่าเขาคงไม่ใช้เตารีดแน่ๆ

แล้วฉันก็ทำเสร็จ ตัวแรกลองใส่เองก่อน พบว่าเป็นผลงานที่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ฉันตั้งใจไว้ทุกข้อ   
มันใส่สบาย ให้สัมผัสที่ดี สุดแสนธรรมดาแต่รู้สึกว่าพิเศษ เพราะเส้นใยหยาบนิดๆ น้ำหนักของผ้าก็ทิ้งตัวกำลังดี เป็นเสื้อที่ฉันชอบ และใช้งานบ่อยมาก ทั้งใส่อยู่บ้าน และใส่ไปข้างนอก ให้ความรู้สึกถึงเสื้อผ้าชนเผ่า สัมผัสธรรมชาติ  ขณะเดียวกันก็ดูกลมกลืน เรียบง่าย ไม่ขัดแย้งกับบริบทของเมืองใหญ่ จึงเป็นเสื้อที่ใส่ไปทุ่งนาป่าเขาได้ดีพอๆกับใส่ไปเดินห้างฯหรือนัดพบคุยงาน  


ฉันเย็บเสื้อได้ทั้งหมด 5 ตัว สำหรับไปขาย รู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่เคยนึกว่าจะเย็บเสื้อขายใครได้ ฉันไม่มีแบรนด์ และไม่อยากทำป้ายชื่อติดเสื้อให้เกะกะ แต่ก็อยากทำสัญลักษณ์ไว้สักเล็กน้อย

จึงเลือกวิธีปักด้วยเทคนิคสาน ใช้ด้ายใยกัญชงสีแดง ปักเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กๆ คล้ายกับตราประทับชื่อ ซึ่งกลายเป็นว่า ฉันชอบที่มันออกมาเป็นแบบนี้ ฉันแอบตั้งชื่อผลงานชุดนี้ไว้ในใจว่า "เครื่องแต่งกายสามัญประจำบ้าน" สะท้อนประโยชน์ตามความตั้งใจของคนทำ และหวังว่า คนที่ได้ใส่มันจะรู้สึกดีทุกวันที่ใส่ แม้เขาอาจไม่ล่วงรู้ความคิดที่อยู่เบื้องหลังมันเลยก็ตาม





 

 






28.1.15

Smooth in, smooth out.

ฉันเชื่อมาโดยตลอดว่า น้ำผลไม้นั้นไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะไฟเบอร์ถูกคั้นทิ้งไปเหลือไว้แต่น้ำตาล แต่วันหนึ่งก็ต้องเปล่ียนความคิด เมื่อได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำผักผลไม้ ซึ่งเขียนโดย Kae Fujii ทั้งๆที่ไม่เคยสนใจหนังสือประเภทนี้ แต่ฉันก็ตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้ไปที่เคาน์เตอร์คิดเงิน (แทนตำราทำโดนัทที่ได้กินจากญี่ปุ่นแล้วติดอกติดใจ แต่คงให้โทษกับร่างกายมหาศาล) เพื่อคลายความสงสัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพชนิดนี้

คุณคาเอะบอกว่า น้ำผักผลไม้สดๆนั้นอุดมไปด้วยเอนไซม์ ที่ช่วยชดเชยเอนไซม์ในร่างกายของเราที่สูญเสียไปกับการย่อยอาหาร หรือลดลงเมื่อเราอายุมากขึ้น แถมสูตรน้ำผักผลไม้ในเล่ม เน้นการปั่นมากกว่าการคั้น ผลที่ได้จึงเป็น smoothie ที่ยังคงไฟเบอร์ไว้ไม่ต่างจากการกินสดๆ แต่มีข้อดีคือ ดื่มง่ายกว่า และการผสมผสานผักและผลไม้หลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน ทำให้ได้เมนูน้ำปั่นที่หลากหลาย ไม่จำเจ และเราก็ยังสนุกกับการทดลองและสร้างสรรค์เมนูในแบบของเราเองด้วย โดยมีข้อแม้ว่า ควรใช้ผักผลไม้สดสะอาด ดื่มตอนท้องว่างยามเช้า และดื่มทันทีหลังทำเสร็จ ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก เพราะน้ำผักผลไม้สดจะเกิดการออกซิเดชั่นเมื่อวางทิ้งไว้ ทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง

ฉันเลือกซื้อผักผลไม้หลายๆชนิดมา ลองทำและดื่มมาได้สิบวันแล้ว (ในหนังสือ คุณคาเอะเชิญชวนแกมขอร้องให้ลองดื่มให้ได้สิบวันก่อน) ผลที่ได้คือ ระบบขับถ่ายดี รู้สึกสดชื่น ไม่ปวดหัว (ปกติเวลากินน้ำหวานๆมักจะปวดหัว) และไม่ค่อยรู้สึกอยากกินอาหาร ที่สำคัญคือ มันรู้สึกดีที่เราได้ดูแลตัวเอง ฉันชอบที่มันทำได้โดยไม่ยุ่งยากเลย ใช้เวลาก็น้อย ราคาไม่แพงและอร่อยด้วย ในท้องตลาดเห็นมีน้ำผักผลไม้แบบนี้ขายอยู่เหมือนกัน แต่ฉันว่าราคาก็ค่อนข้างสูง เพียงแค่เราตื่นเช้าขึ้นอีกนิดเดียว ก็ทำดื่มเองได้แสนง่ายดาย และน่าจะได้ประโยชน์เต็มๆด้วย

ไม่รู้เหมือนกันว่า ในระยะยาว น้ำผักผลไม้ปั่นจะให้ประโยชน์กับร่างกายมากหรือน้อย แค่ไหนอย่างไร แต่ในเมื่อมันทำง่าย อร่อย และท้องไส้สบาย ก็ว่าจะลองทำต่อไปเรื่อยๆ ... ลองดูนะ


ส้ม+สัปปะรด+กล้วย
กีวี+สัปปะรด+กล้วย
มะเขือเทศ+โหระพา
สัปปะรด+กล้วย+แครอท


11.8.14

Dear my teacher

ตั้งแต่แต่งงานแยกบ้านออกมา ฉันก็ร้างราการตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เองไปนานเป็นปี แต่ก็แอบตั้งใจกับตัวเองไว้ว่า ต่อไปนี้จะเลิกซื้อ หันมาตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เองเท่านั้น (พอ พอกันทีกับเสื้อซื้อ อิอิ ใส่อารมณ์ผสมความมุ่งมั่น) จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ซื้อจักรเย็บผ้า และยังไม่รู้สึกว่าต้องมีเสื้อใหม่

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพี่สาวของฉันมีโปรเจ็คทำวิดีโอและเพจ "ช่างแม่ สอนตัดเสื้อ" และบ้านของฉันถูกเลือกเป็นสถานที่ในการถ่ายทำ ฉันจึงมีจักรเย็บผ้ามาอยู่ในใกล้มือโดยปริยาย

การถ่ายทำวิดีโอ "ช่างแม่ฯ" ที่บ้านผ่านไปสองครั้งเท่านั้น แต่ก็ทำให้ฉันคิดถึงการตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมา ในบ่ายวันที่การคิดเขียนงานของฉันไม่เป็นไปอย่างตั้งใจ ฉันจึงลุกขึ้นมาหยิบผ้าชิ้นสวยที่ซื้อเก็บไว้นานแล้ว หยิบเสื้อตัวเก่าที่ตัดเองด้วยแพทเทิร์นแสนง่ายแต่ถูกใจมาก หยิบกรรไกรตัดกระดาษ วางเสื้อทาบลงบนผ้า แล้วก็ตัดๆๆๆ แบบไม่คิดอะไรมากเลย

งานง่ายๆ แสนง่ายนี้ อาจธรรมดาสามัญมากสำหรับคนอื่น แต่มันเป็นก้าวสำคัญของฉัน จนฉันอยากบันทึกเรื่องวันนี้ไว้เตือนใจ ที่ผ่านมา เวลาฉันตัดเย็บเสื้อใส่เอง จะมีแม่อยู่ใกล้ๆ ให้คอยถามนู่นนิดนี่หน่อยเสมอ บางครั้งถามจนแม่ระอา บอกว่าเหนื่อยกว่าแม่ลงมือเองเสียอีก แต่ครั้งนี้ ฉันทำเองทุกอย่าง ทุกขั้นตอน และทำตามวิธีอย่างที่ถูกที่ควร ไม่ได้ทำแบบสุกเอาเผากิน ทำลวกๆเร็วๆเพราะอยากใส่เสื้อใหม่แล้วเหมือนตอนเด็กๆ ฝีมืออาจจะไม่เนี้ยบ แต่ฉันสนุกกับทุกขั้นตอน สนุกกับการแก้ปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์บางอย่าง สนุกกับการบริหารผ้าให้เพียงพอตัดเสื้อแล้วยังเหลือเป็นปลอกหมอนเล็กๆอีกหนึ่งใบ  ถึงแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ แต่เสียงพร่ำสอนของแม่ดังก้องมาเป็นระยะๆ งานง่ายๆ แสนง่ายและไม่สลักสำคัญนี้ ทำให้ฉันพบว่า ช่วงเวลาที่ฉันลงมือตัดเย็บเสื้อ คือช่วงเวลาที่ฉันและแม่อยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุด คือช่วงเวลาที่เราแม่ลูกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

วันแม่ปีนี้ ไม่มีของขวัญอะไรให้แม่เลย (ปีก่อนๆก็ใช่ว่าจะมี) แต่ฉันมั่นใจว่า แค่แม่ได้รู้ว่าลูกเย็บเสื้อใส่เองได้ และวิชาที่แม่เคยถ่ายทอดให้ไม่ได้ทะลุหูขวาไปเสียหมด แม่ก็คงดีใจยิ่งกว่าการได้รับของขวัญใดๆแล้วล่ะ (เนอะคุณแม่เนอะ  จุ๊บๆ)          

ไม่มีการสร้างแพทเทิร์น

ผ้าหน้าแคบ ต้องต่อช่วงแขน ตัดแถบผ้าเฉลียงไว้หลบสาบที่คอและปลายแขน

ต่อแขนกับตัว ให้มีลักษณะแบบแขนในตัว

รอบคอ หลบสาบแล้วสอย 

รอบคอด้านใน สอยเรียบร้อย จริงๆจะใช้การเย็บก็ได้ แต่เผอิญวันนี้ไม่มีด้ายเย็บสีเข้ม :P
เย็บเสื้อแผ่นหน้ากับหลังติดกันที่เส้นไหล่และข้างลำตัว ไม่มีด้ายเนา ใช้เข็มหมุดติดแทน
ชายเสื้อ พับสองทบแล้วเย็บ (หาด้ายสีดำได้แล้ว)
รอบคอ ไม่เห็นรอยเย็บก็จะดูสวยเนี้ยบดี แต่คอเย็บเบี้ยวไปหน่อย บางช่วงยังโค้งไม่สวย
พอเย็บเส้นไหล่แล้ว จะเห็นว่า รอยต่อแขนข้างหนึ่ง ด้านหน้ากับด้านหลังไม่ตรงกัน 
เสร็จแล้ว ถูกใจ ไม่เหมือนใคร

20.4.14

Ofuro การอาบน้ำแบบญี่ปุ่น

ฉันกลับจากการไปเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก นอกจากความประทับใจในผู้คนและสถานที่ที่ได้พบเจอทั้งระหว่างการทำงานและระหว่างทาง สิ่งหนึ่งที่ติดใจกลับมามากๆก็คือ การอาบน้ำแบบญี่ปุ่น

คืนแรกที่ไปถึง ก็พบว่าที่พักของเรา มีเฉพาะห้องน้ำแบบอาบรวมเท่านั้น ครั้งแรกของฉันมีเวลาทำใจไม่มากเสียด้วย เพราะเราไปถึงดึกมาก ทางที่พักยอมขยายเวลาใช้ห้องอาบน้ำให้แค่แป๊บเดียว จะเลี่ยงไปอาบเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่ได้ เพราะห้องอาบน้ำเปิดเฉพาะตอนเย็น อีกทั้งเราเดินทางกันมาเป็นวันๆแล้ว ไม่อาบคงนอนไม่หลับแน่ ในทีมเรามีผู้หญิงสี่คน เลยต้องจับคู่อาบ เพื่อให้ทันเวลา และเขินน้อยหน่อย 

การอาบน้ำแบบญี่ปุ่นนั้น เราต้องนั่งล้างตัว สระผม ล้างหน้าให้สะอาดก่อน มีเก้าอี้เตี้ยๆ และมีกะละมังเล็กๆสำหรับผสมน้ำสบู่ แล้วใช้ผ้าผืนบางจุ่มฟองขัดตัว ไอเดียนี้ดีมาก เพราะใส่สบู่นิดเดียวแต่ได้ฟองเยอะ อาบและขัดได้ทั้งตัว ก๊อกน้ำมีทั้งที่เป็นฝักบัวติดบนผนังได้ระดับพอดี และมีก๊อกด้านล่าง ให้เปิดน้ำใส่กะละมังและล้างขัดเท้าได้สะดวก หลังล้างตัวเสร็จ ก็ลงไปแช่ในบ่อน้ำร้อน ซึ่งแม้จะรู้สึกร้อนมากในตอนแรก แต่ผ่านไปสักพักก็อุ่นสบาย คลายเมื่อยล้า แช่เสร็จแล้ว รู้สึกถึงเลือดลมที่ไหลเวียน แก้มมีเลือดฝาด และง่วงนอนโดยอัตโนมัติ

ที่พักส่วนมากของการเดินทางครั้งนี้ มีห้องอาบน้ำแบบ Ofuro ทั้งแบบอาบรวมและอาบเดี่ยว แบบอาบเดี่ยวมีลักษณะเหมือนกัน แต่ห้องเล็กกว่าเท่านั้น ต่างกันนิดหน่อยตรงที่ จะมีแผ่นปิดอ่างอาบน้ำไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิน้ำให้ร้อนอยู่เสมอ 

ฉันว่าการอาบน้ำแบบญี่ปุ่น มีข้อดีตรงการนั่งอาบ เพราะเราได้ใกล้ชิดกับร่างกายเรามากกว่ายืน การนั่งยังผ่อนคลายกว่า เอื้อต่อการค่อยๆขัดค่อยๆถู การใช้ผ้าช่วยขัดตัวยังทำให้รู้สึกสะอาดและผิวเนียนลื่นขึ้นด้วย 

การอาบน้ำ Ofuro แต่ละที่ในทริปนี้ ให้ประสบการณ์ต่างกันไป ทำให้การอาบน้ำท่ามกลางอากาศหนาวๆกลายเป็นเรื่องน่าสนุก นอกจากอาบน้ำรวมในห้องน้ำ ฉันได้ลองแช่บ่อน้ำพุร้อนกลางแจ้ง และได้ลองแช่ในอ่างอาบน้ำที่ทำด้วยไม้ ที่ให้ความรู้สึกดีๆด้วย ฉันเชื่อว่า Ofuro น่าจะมีส่วนให้การเดินทางและการทำงานครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี 

กลับมาถึงบ้าน แอบคิดถึง Ofuro เล็กๆ แต่พอเดินเข้าไปในห้องน้ำ ก็พบว่า ห้องน้ำที่บ้านเราก็มีทุกอย่างที่จะเป็น Ofuro ได้ กลายเป็นว่า ความฝันจะมี Ofuro ที่บ้านเป็นจริงได้โดยไม่ได้ตั้งใจ ทีนี้ก็เหลือแต่ห้องอาบน้ำกลางแจ้งแบบตักอาบด้วยขันกับโอ่ง ที่สักวัน ฉันฝันจะมีที่บ้าน ไว้จ้วงอาบในวันร้อนๆ

หมายเหตุ อดคิดไม่ได้ว่า คงจะดีถ้าเราคนไทยรักษาการอาบน้ำแบบตักอาบไว้เป็นวัฒนธรรมอย่างจริงจังเหมือนชาวญี่ปุ่นบ้าง ลองนึกถึงรีสอร์ตหรูๆ ที่ทำห้องอาบน้ำแบบตักอาบดูสิ ฉันว่าคงจะเท่มากเลยล่ะ และต้องมีผ้าขาวม้ากับผ้าถุงเตรียมไว้ให้นุ่งอาบด้วยนะ 

และนี่คือห้องน้ำที่บ้านฉันเอง มีอ่างเล็กๆ มีเก้าอี้เตี้ย กะละมังน้อย และผ้าขัดตัว ฝักบัวปรับระดับให้ใช้นั่งอาบได้พอดี
 





21.3.14

Indigo tissue paper holder


ของใช้จำเป็นอย่างหนึ่งในบ้าน ที่หาซื้อแบบที่ถูกใจได้ยากเย็นเหลือเกินสำหรับฉัน คือ กล่องใส่กระดาษเช็ดปาก ถ้าถามพี่แกละ-สไตลิสต์คู่ใจจะรู้ว่า เวลาถ่ายรูปบ้านเพื่อมาลงในหนังสือ ฉันมักขอให้เอากล่องกระดาษเช็ดปากออกจากเฟรมเสมอ เพราะน้อยครั้งที่มันจะดูเข้ากับบ้านและเสริมให้บ้านสวย เมื่อถึงคราวบ้านตัวเอง จึงคิดอยู่นานว่าแบบไหนดีที่มันจะอยู่บนโต๊ะกินข้าวได้โดยที่เรามองได้ทุกวันไม่ขัดตา จำได้ว่าเคยเห็นรูปที่ใส่กระดาษทิชชูแบบพกทำจากผ้าสวยดี ฉันจึงอยากประยุกต์แบบนั้นมาใช้กับกระดาษเช็ดปากบ้าง แบบเรียบๆจะสวยได้ต้องใช้ผ้าที่มีผิวสัมผัสดีๆ ฉันตัดใจนำผ้าฝ้ายเข็นมือทอมือย้อมครามมาทำ โดยทดลองทำกับผ้าฝ้ายสีขาวก่อนกันความผิดพลาด ที่ลุ้นมากคือต้องเย็บด้วยมือเพราะที่บ้านยังไม่มีจักร ฝีเข็มดูไม่ได้เอาซะเลย แต่เสร็จออกมาแล้วได้ผลน่าพอใจ ตอนนี้ฉันสามารถนั่งมองที่ใส่กระดาษได้ทั้งวันทีเดียว


14.3.13

แหวนดอกหญ้า




ผ่านมาจะครบสามเดือนแล้ว เพิ่งมีโอกาสได้เขียนเรื่องนี้...

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆในงานแต่งงาน ฉันไม่เคยมีความตั้งใจใดๆมาก่อนเกี่ยวกับแหวนเลย และยังไม่ค่อยได้เจอแหวนแบบที่ชอบจริงๆซะด้วย รู้สึกเสียดายสตางค์ถ้าจะต้องซื้อแหวนแพงๆที่เราไม่มีความรู้สึกใดๆให้ ก็ของทุกชิ้นควรได้อยู่กับคนที่รู้คุณค่าของมันไม่ใช่เหรอ ช่วงที่กำลังคิดวนเวียนเรื่องนี้อยู่นั้น ฉันมีโอกาสได้พบคุณนัท AtelierRudee ซึ่งได้รู้จักตอนทำหนังสือ บ้าน บ้าน ฉบับที่ ๓ คุยไปคุยมาก็เกิดความคิดให้คุณนัททำแหวนให้ดีกว่า แนวทางของเธอน่าจะถูกใจฉัน แต่พอคุยไปคุยมาเรื่อยๆ เธอกลับชวนให้ลงมือทำเองซะเลย ฉันตื่นเต้น ดีใจและแอบกังวล ไม่คิดว่าเราจะทำแหวนได้เอง และกังวลว่าตั้ว(เจ้าบ่าว)จะไม่เอาด้วยกับไอเดียนี้ แต่ผลกลับเป็นตรงข้าม เพราะตั้วดูสนุกและตอบตกลงทันที

ไอเดียของแหวนที่เราช่วยกันคิด คือ แหวนดอกหญ้า ฉันคิดว่า ถ้าแหวนแต่งงานจะมีความจำเป็นอะไรสักอย่างกับชีวิตคู่ของเรา มันน่าจะเป็นสิ่งที่คอยเตือนใจ ในวันที่เราอาจทะเลาะ โกรธ เกลียด หรือคิดจะเลิกกัน ให้เรานึกถึงวันเวลาที่เราเพิ่งเริ่มรักกันในวัยเยาว์ ทั้งฉันและตั้ว เรารู้สึกว่าในตัวของเราสองคนมีเด็กที่ไม่อยากโต เวลาดูในหนัง เมื่อเด็กชายอยากบอกรักเด็กหญิง ก็คงมีเพียงแหวนที่พันขึ้นจากดอกหญ้าเท่านั้นเป็นสื่อรัก ฉันชอบความรู้สึกแบบนั้น มันไร้เดียงสา เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ไม่มีเหตุผล ไม่สนใจกฎกติกาของผู้ใหญ่ ความรักของเราก็เป็นแบบนั้น ถึงผลงานที่ออกมาจะไม่สวย ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่แหวนแต่งงานควรจะเป็น แต่ฉันก็ดีใจมากที่เราได้ทำมันขึ้นมาด้วยมือของเราเอง มีรอยนิ้วมือ ความรู้สึกและความทรงจำของเราผนึกอยู่ในนั้น 



ปั้นแว๊กซ์เป็นดอกไม้จิ๋วๆ
แหวนดอกหญ้าที่ยังเป็นแว๊กซ์
ทำสนุกๆ 
แหวนดอกอะไรก็ไม่รู้
เทียบสเกลให้ดูว่าเล็กมาก
ทำไปเรื่อยๆ สนุกมือ
อุปกรณ์ที่ใช้ แท่งแว๊กซ์สีสวยจัง
เสร็จแล้ว แหวนดอกหญ้าและพวกพ้อง เตรียมพร้อมไปเข้าโรงหล่อ
ออกจากโรงหล่อมา โลหะยังถูกเคลือบด้วยผงปูนสีขาวๆ 
ใช้ตะไบค่อยๆขัดให้ผงปูนที่เคลือบผิวออก โดยไม่ให้กินเนื้อโลหะเข้าไป (ได้ใช้โต๊ะช่างทองด้วย)
ขัดเสร็จแล้ว ก็เอามาเผาไฟ
เผาไฟแล้วนำมาแช่ในกรด
แช่กรดแล้วนำมาขัดด้วยแปรงทองเหลือง
แล้วนำมาเผาไฟอีกที ทำสลับกันไปอย่างนี้ซ้ำหลายๆรอบ

แหวนดอกหญ้าและพวกพ้อง ทองและเงิน
  
แบบร่างฝีมือตั้ว เสร็จแล้วเหมือนเลย แค่เราเปลี่ยนใจไม่ใส่เพชรแล้ว