18.5.17

เครื่องแต่งกายสามัญประจำบ้าน

เป็นลูกของ "ช่างแม่ สอนตัดเสื้อ" ก็จริง แต่เพราะมีแม่ และมีช่างของแม่คอยตัดเย็บเสื้อผ้าให้ตลอด จึงไม่สนใจที่จะหัดตัดเย็บเสื้อผ้าเท่าที่ควร โตมาได้ลองเรียนรู้การสร้างแพทเทิร์นบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะยึดเป็นอาชีพได้เพราะรู้ว่ามันไม่ง่าย สมัยวัยรุ่นก็ใจร้อน การเย็บเสื้อให้สวยนั้นยากเย็นเหลือเกิน จนเมื่อไม่กี่ปีหลังมานี้เอง ที่เริ่มรู้สึกว่าพอทำได้ ใจเย็นขึ้น มือนิ่งขึ้น เย็บจักรได้ตรงขึ้น

ช่วงสามสี่ปีก่อน ฉันตั้งปณิธานกับตัวเองว่า จะเลิกซื้อเสื้อผ้า ถ้าจำเป็นจริงๆก็จะตัดใส่เองเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ตัดเสื้อใส่เองมากมายนัก เพราะของเดิมๆก็ยังพอใช้ แค่ตัดเย็บชิ้นง่ายๆหรือที่จำเป็นต้องใช้จริงๆไว้ใส่บ้าง

ฉันโตมากับร้านตัดเสื้อ ตามแม่ไปซื้อผ้า เลือกกระดุม ดูแต่หนังสือแฟชั่น และวาดรูปแฟชั่นไว้เป็นเล่มๆมาตั้งแต่เด็ก จึงสนใจเรื่องเสื้อผ้าสวยๆงามๆไปโดยปริยาย แต่เมื่อถึงจุดที่เลิกสนใจแฟชั่น เลิกเดินดูและซื้อเสื้อผ้า โดยเฉพาะเมื่อลาออกมาทำงานอยู่กับบ้าน นานๆจะมีนัดคุยงานข้างนอก ฉันก็ยิ่งพบความไม่จำเป็นของการมีเสื้อผ้าใหม่ รู้สึกตัวอีกที พบว่าเราแทบจะไม่มีเสื้อผ้าดีๆใส่ไปข้างนอกเลย เสื้อเก่าใส่สบาย เราเองรับได้ แต่ก็เกรงใจคนรอบข้างเหมือนกัน 

ความคิดที่จะตัดเย็บเสื้อใส่เองจึงกลับมาอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เสื้อสวยๆ ที่ฉันอาจจะเบื่อมันในที่สุด 
ฉันอยากทำเสื้อที่ฉันจะไม่มีวันเบื่อ ต้องใส่สบาย และดูดีเสมอ ใส่อยู่บ้านก็ได้ ใส่ไปไหนๆก็ได้ 
โดยจำเป็นต้องใช้ผ้าที่ระบายอากาศดี ไม่ร้อน เพราะฉันทำงานที่บ้าน ไม่มีแอร์ ฉันเลือกผ้าใยกัญชง เพราะเคยรู้มาว่า เป็นเส้นใยที่ใส่สบายตัว คุณสมบัติเหมือนลินิน แถมยังปลูกได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงมากเท่ากับต้นฝ้าย ที่สำคัญ ฉันก็อยากได้ผ้าที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ ไม่ย้อมสี หรือย้อมด้วยสีธรรมชาติ แล้วฉันก็ได้ผ้าใยกัญชงมาจำนวนหนึ่ง ผลิตในประเทศไทย มีความหยาบ ดูดิบ มีน้ำหนักแบบที่ฉันชอบ ซื้อมาเก็บไว้ รอวันลงมือ

จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พี่สาวจัดงานตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์ม ฉันจึงอยากทำสินค้าไปร่วมสนุกด้วย โดยคิดถึงว่า อยากให้ของที่จะขาย เกี่ยวข้องกับเจ้าของตลาดด้วย แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า พี่หนู เจ้าของตลาดฯ เป็นลูกช่างแม่สอนตัดเสื้อที่ไม่ชอบทำแพทเทิร์นเอาเสียเลย แต่ก็ตัดเสื้อผ้าใส่เองได้หลายตัว ฉันจึงตั้งใจว่า น่าจะทำเสื้อแบบไม่ต้องอาศัยแพทเทิร์น ไปขายที่งานดีกว่า

เสื้อแบบไม่มีแพทเทิร์นนี้เอง ทำให้ฉันนึกไปถึงเสื้อผ้าของคนโบร่ำโบราณ ชนพื้นเมืองต่างๆ ที่เขาไม่ได้สร้างแพทเทิร์นแบบสมัยใหม่ แต่ใช้การพับ กะ ตัด โดยมีความโดดเด่นตรงที่ เสื้อผ้าแบบนั้น มักจะไม่มีเศษเหลือทิ้งเลย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผ้าที่เขาปลูกเส้นใยเอง ทอเอง ผ้าทุกตารางนิ้วจึงมีค่าเกินกว่าจะตัดทิ้ง เสื้อผ้าชนเผ่าส่วนมากจึงมักประกอบขึ้นจากผ้าที่ตัดเป็นเส้นตรง เป็นสี่เหลี่ยมหรือเป็นสามเหลี่ยม แต่ก็มีเทคนิคที่ทำให้เสื้อผ้านั้นใส่ได้พอดีตัว 

เทคนิคที่ฉันสนใจและเลือกมาใช้ทำเสื้อคราวนี้ เรียกว่า การต่อเป้า หรือ Gusset ซึ่งใช้เศษผ้าชิ้นเล็ก มาต่อเชื่อมจุดที่เป็นมุมฉาก เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเมื่อสวมใส่ ไม่ตึง คราวนี้ฉันลองใช้การต่อเป้ากับส่วนที่เป็นรักแร้ ต่อแขนเข้ากับตัวเสื้อที่ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แผ่นที่นำมาต่อเป้า ต้องวางเป็นผ้าเฉลียง เป็นผ้าแผ่นเล็กๆที่เหลือจากผ้าที่ตัดส่วนโค้งของคอเสื้อออก การตัดเสื้อตัวนี้จึงแทบไม่มีเศษเหลือทิ้งเลย แถมการต่อเป้ายังช่วยให้ได้เสื้อที่พอดีกับตัว สวยแต่ใส่สบาย

แต่การต่อเป้าไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันทดลองเอง และพยายามเย็บอย่างตั้งใจที่สุด โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าจะต้องทำไปขาย ก็อยากจะเย็บให้เรียบร้อยที่สุด แต่ก็ยังแอบท้าทายตัวเอง โดยไม่ใช้เตารีดเลยระหว่างการเย็บ จริงๆเตารีดช่วยเรื่องการเย็บให้เนี้ยบได้มาก แต่ฉันก็คิดว่า ชาวชนเผ่าเขาคงไม่ใช้เตารีดแน่ๆ

แล้วฉันก็ทำเสร็จ ตัวแรกลองใส่เองก่อน พบว่าเป็นผลงานที่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ฉันตั้งใจไว้ทุกข้อ   
มันใส่สบาย ให้สัมผัสที่ดี สุดแสนธรรมดาแต่รู้สึกว่าพิเศษ เพราะเส้นใยหยาบนิดๆ น้ำหนักของผ้าก็ทิ้งตัวกำลังดี เป็นเสื้อที่ฉันชอบ และใช้งานบ่อยมาก ทั้งใส่อยู่บ้าน และใส่ไปข้างนอก ให้ความรู้สึกถึงเสื้อผ้าชนเผ่า สัมผัสธรรมชาติ  ขณะเดียวกันก็ดูกลมกลืน เรียบง่าย ไม่ขัดแย้งกับบริบทของเมืองใหญ่ จึงเป็นเสื้อที่ใส่ไปทุ่งนาป่าเขาได้ดีพอๆกับใส่ไปเดินห้างฯหรือนัดพบคุยงาน  


ฉันเย็บเสื้อได้ทั้งหมด 5 ตัว สำหรับไปขาย รู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่เคยนึกว่าจะเย็บเสื้อขายใครได้ ฉันไม่มีแบรนด์ และไม่อยากทำป้ายชื่อติดเสื้อให้เกะกะ แต่ก็อยากทำสัญลักษณ์ไว้สักเล็กน้อย

จึงเลือกวิธีปักด้วยเทคนิคสาน ใช้ด้ายใยกัญชงสีแดง ปักเป็นรูปสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กๆ คล้ายกับตราประทับชื่อ ซึ่งกลายเป็นว่า ฉันชอบที่มันออกมาเป็นแบบนี้ ฉันแอบตั้งชื่อผลงานชุดนี้ไว้ในใจว่า "เครื่องแต่งกายสามัญประจำบ้าน" สะท้อนประโยชน์ตามความตั้งใจของคนทำ และหวังว่า คนที่ได้ใส่มันจะรู้สึกดีทุกวันที่ใส่ แม้เขาอาจไม่ล่วงรู้ความคิดที่อยู่เบื้องหลังมันเลยก็ตาม