19.10.12

ฤดูหนาวมาแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม หรือเมื่อวานนี้ ฉันเดินออกจากบ้าน และรู้สึกถึงอากาศ ลม แสงแดด ที่บ่งบอกว่า ฤดูหนาวมาถึงแล้วจริงๆ และฝนที่ตกหนักเมื่อบ่ายวันอังคารที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็คงเป็นฝนสั่งลาของปีนี้

การเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ฉันมีโอกาสพบเพื่อนใหม่ชาวญี่ปุ่น เธอเป็นสาวญี่ปุ่นที่พูดไทยชัดมากและรู้จักคำศัพท์ยากๆในภาษาไทยเสียด้วย เธออยู่เมืองไทยมาหลายปีแล้ว (แต่ไม่ยอมบอกเราว่ากี่ปี) เธอเล่าว่า ก่อนมาอยู่เชียงใหม่ เธอทำงานที่กรุงเทพฯอยู่หลายปี และทุกปี เธอจะรู้ว่าฤดูหนาวมาเยือนแล้ว จากการฟังเสียงของจิ้งหรีด เธอจดบันทึกไว้ในบล็อก ว่าวันไหนที่ได้ยินเสียงจิ้งหรีดเป็นวันแรก และวันที่ของแต่ละปีก็ตรงกันอย่างน่าประหลาดใจ

ตรงกับที่ฉันอ่านพบใน ตำนานผีล้านนา ตอน ผีตากผ้าอ้อม ว่า
"ต่อเมื่อกาลเวลาผันผ่าน กระแสน้ำลดระดับในเวลาเดือนเกี๋ยงหรือเดือนเจี๋ยงตรงกับเดือนทางภาคกลางคือเดือนสิบเอ็ด ขณะที่น้ำลดกระแสพร้อมกับสายมลมหนาวเริ่มรำเพยพัดจอยกิ่งไม้ใบหญ้า บรรดาจี้กุ่งหรือจิ้งโกร่ง  จิ้งหีดหรือจิ้งหรีดต่างพากันร้องเซ็งแซ่ ระงมไพรยามค่ำคืน เป็นสิ่งบอกเหตุว่าหน้าน้ำนองจะลาจากไปแล้วละเน้อ... "

คำบอกเล่าของเพื่อนใหม่ชาวญี่ปุ่น ทำให้ฉันอดทึ่งไม่ได้ เรื่องราวเล็กๆเรื่องนี้ สะท้อนถึงหลายสิ่งที่ทำให้ฉันต้องกลับมาทบทวนตัวเอง อันดับแรกคือ ความละเอียดอ่อนของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อธรรมชาติรอบกาย ฉันซึ่งเป็นคนไทยอยู่เมืองไทยผ่านร้อนหนาวมาสามสิบกว่าหนยังไม่เคยสังเกตุถึง"วันแรกที่จิ้งหรีดร้อง"เลย อันดับต่อมา คือ นิสัยช่างบันทึก ซึ่งฉันพบว่า มีอยู่มากในชาวญี่ปุ่น และสิ่งที่อยู่ในบันทึกนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้บันทึกเองและผู้อื่น

อันดับสุดท้าย  ข้อนี้ต้องขอเท้าความนิดนึง เมื่อประมาณสามปีก่อน มีนักเขียนหญิงไทยชื่อดังที่เคยไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น พูดกับฉันว่า ... ที่คนญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อนต่อสิ่งต่างๆ และเลือกใช้สีสันได้อย่างล้ำลึกน่าทึ่ง นั่นเป็นเพราะ ประเทศเขามีฤดูที่แตกต่างกันชัดเจนถึงสี่ฤดู ดอกไม้เขาก็มีเฉดสีที่ลึกซึ้ง ไม่สดจัดจ้าเหมือนดอกไม้ไทย...

ฉันฟังไปพยักหน้าไป แต่แอบเกิดคำถามขึ้นเล็กๆในใจ คำถามที่ฉันได้พบคำตอบจากบทสนทนากับชาวญี่ปุ่นในวันนั้น นั่นคือ ... ทุกสิ่งบนโลกนี้ จะสวยหรือไม่ สำคัญที่ใครมอง ...

ฉันเชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในเมืองไทยทุกคน คงไม่ได้สังเกตุถึงความสัมพันธ์ของเสียงจิ้งหรีดกับการมาถึงของฤดูหนาวเหมือนเพื่อนของฉันคนนี้ และการที่นักเขียนหญิงไทยคนนั้นมองเห็นว่าความงามแบบไทยสู้แบบญี่ปุ่นไม่ได้ ก็เป็นเพราะ "การรับรู้" ของเธอเอง สิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันข้อสรุปนี้ของฉันได้ก็คือ เมื่อเราเอ่ยถึงประเทศของเขาอย่างชื่นชม เพื่อนญี่ปุ่นคนนี้กลับบอกว่า ...

"ฉันคิดว่า ดอกคูนก็ไม่ได้สวยน้อยไปกว่าซากุระเลยนะคะ"

ฉันไชโยโห่หิ้วอยู่ในใจ และอยากให้คนไทยคิดได้อย่างนี้เยอะๆจัง




หมายเหตุ
บันทึกนี้ถูกเขียนขึ้นจากความคิดที่แล่นเข้ามาในสมองอย่างฉับพลัน และเขียนท่ามกลางเสียงจิ้งหรีดร้องอยู่นอกหน้าต่าง ในห้องที่ไม่เปิดแอร์และไม่มีพัดลม



  

2 comments:

  1. ชอบจัง. ธรรมชาติงดงามเสมอนะ

    อิโนะฉิฉิ


    ReplyDelete
  2. paradigm ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ^^ ...เรื่องจิ้งหรีดนี่ก็จริงนะ รอบๆบ้านก็เพิ่งมีเสียงจิ้งหรีดเริ่มกรีดเสียงให้ฟังเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่เอง

    ReplyDelete